วันเสาร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2554

นาฏศิลป์ไทย



 นาฏศิลป์  หมายถึง ศิลปะการฟ้อนรำ หรือความรู้แบบแผนของการฟ้อนรำ เป็นสิ่งที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นด้วยความประณีตงดงาม ให้ความบันเทิง อันโน้มน้าวอารมณ์และความรู้สึกของผู้ชมให้คล้อยตาม  ศิลปะประเภทนี้ต้องอาศัยการบรรเลงดนตรี และการขับร้องเข้าร่วมด้วย เพื่อส่งเสริมให้เกิดคุณค่ายิ่งขึ้น หรือเรียกว่า ศิลปะของการร้องรำทำเพลง
        
การศึกษานาฏศิลป์ เป็นการศึกษาวัฒนธรรมแขนงหนึ่ง นาฏศิลป์เป็นส่วนหนึ่งของศิลปะสาขาวิจิตรศิลป์ อันประกอบด้วย จิตรกรรม สถาปัตยกรรม วรรณคดี ดนตรี และนาฏศิลป์
        นาฏศิลป์ นอกจากจะแสดงความเป็นอารยะของประเทศแล้ว ยังเป็นเสมือนแหล่งรวมศิลปะและการแสดงหลายรูปแบบเข้าด้วยกัน โดยมีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง ในการที่จะสร้างสรรค์ อนุรักษ์ และถ่ายทอดสืบต่อไป       





คุณค่าจากการรำไทย
๑.  เพื่อการสื่อสาร  นาฏศิลป์ได้พัฒนาจากรูปลักษณ์ที่ง่าย และเป็นส่วนประกอบของคำพูดหรือวรรณศิลป์ ไปสู่การสร้างภาษาของตนเองขึ้นที่เรียกว่า "ภาษาท่ารำ" โดยกำหนดกันในกลุ่มชนที่ใช้นาฏศิลป์นั้นๆ ว่าท่าใดมีความหมายอย่างไร
๒.  เพื่องานพิธีกรรมต่างๆ ได้แก่ การฟ้อนรำเพื่อบูชาหรือบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ การรำแก้บน การฟ้อนรำอีกลักษณะหนึ่งเป็นการฟ้อนรำบูชาครู ไม่ได้แก้บนใด ๆ แต่เป็นการฟ้อนบูชาครู หรือเป็นพุทธบูชา เช่น การรำถวายมือในพิธีไหว้ครูนาฏศิลป์ไทย
๓.  เพื่องานพิธีการต่างๆ ได้แก่ พิธีการต้อนรับแขกเมืองสำคัญ พิธีแห่เทวรูปที่เคารพประจำปี เพื่อเป็นสิริมงคล พิธีฉลองงานสำคัญ เช่น งานวันเกิด งานวันครบรอบ
๔.  เพื่อความบันเทิงและการสังสรรค์  นาฏศิลป์ให้ความบันเทิงแก่ผู้มาร่วมงานต่างๆ เช่น การรำอวยพรในวันเกิด
ในงานรื่นเริงต่างๆ

๕.  เพื่อการออกกำลังกายและพัฒนาบุคลิกภาพ  การฝึกหัดรำไทยต้องอาศัยกำลังในการฝึกซ้อมและ ในการแสดงอย่างมาก
เหมือนกับได้ออกกำลังกายอยู่ตลอดเวลา เป็นการกระตุ้นหรือบำบัดส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย ทำให้กระฉับกระเฉง ไม่เครียด เป็นการสร้างเสริมบุคคลิกภาพและมีการทรงตัวที่สง่างามด้วย

๖.  เพื่อการอนุรักษ์และเผยแพร่  นาฏศิลป์เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของชุมชน ในชุมชนหนึ่งๆ มักมีการสืบทอด และอนุรักษ์วัฒนธรรมทางนาฎศิลป์ของตนเอาไว้มิให้สูญหาย มีการสอนมีการแสดง และเผยแพร่นาฏศิลป์ไทยให้ท้องถิ่นอื่น หรือนำไปเผยแพร่ในต่างแดน


หลักในการชมนาฏศิลป์
๑.  ควรศึกษาเกี่ยวกับท่ารำ  "ท่ารำ" ของนาฏศิลป์ไทยจัดได้ว่าเป็น "ภาษา" ชนิดหนึ่ง ซึ่งใช้สื่อความหมายให้ผู้ชมเข้าใจถึงกิริยา อาการ และความรู้สึก ตลอดจนอารมณ์ของผู้แสดง มีทั้งท่ารำตามธรรมชาติและท่าที่ประดิษฐ์ให้วิจิตรสวยงามกว่าธรรมชาติ 
ผู้ชมที่ดีจะต้องเรียนรู้ความหมายและลีลาท่ารำต่างๆ ของนาฏศิลป์ไทย ให้เช้าใจเป็นพื้นฐานก่อน

๒.  เข้าใจเกี่ยวกับภาษาหรือคำร้องของเพลงต่างๆ  การแสดงนาฏศิลป์จะต้องใช้ดนตรีและเพลงเข้าประกอบ ซึ่งอาจจะมีทั้งเพลงขับร้องและเพลงบรรเลง  ในเรื่องเพลงร้องนั้นจะต้องมี "คำร้อง" หรือ เนื้อร้อง ประกอบด้วย  บทร้องเพลงไทยส่วนมากจะเป็นคำประพันธ์ประเภทกลอนแปด หรือกลอนสุภาพ เป็นคำร้องที่แต่งขึ้นใช้กับเพลงนั้นๆ โดยเฉพาะ หรือนำมาจากวรรณคดีไทยตอนใดตอนหนึ่งก็ได้  ผู้ชมจะต้องฟังภาษาที่ใช้ร้อง ให้เข้าใจควบคู่กับการชมการแสดงด้วย จึงจะเข้าใจถึงเรื่องราวนาฏศิลป์ที่แสดงอยู่
๓.  มีความเข้าใจเกี่ยวกับดนตรีและเพลงต่างๆ  นาฏศิลป์จำเป็นต้องมีดนตรีบรรเลงประกอบขณะแสดง ซึ่งอาจจะเป็นแบบพื้นเมืองหรือแบบสมัยนิยม  ผู้ชมจะต้องฟังเพลงให้เข้าใจทั้งลีลา ทำนอง สำเนียงของเพลง ตลอดจนจังหวะอารมณ์ด้วย จึงจะชมนาฏศิลป์ได้เข้าใจและได้รสของการแสดงอย่างสมบูรณ์ เช่น เข้าใจว่าเพลงสำเนียงมอญ พม่า ลาว ฯลฯ สามารถเข้าใจถึงประเพทของเพลงและอารมณ์ของเพลงแต่ละเพลง นอกจากนี้ จะต้องรู้จักถึงชื่อของเครื่อง ดนตรีและวงดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดงทุกชนิดด้วย
๔.  เข้าใจเกี่ยวกับการแต่งกายและแต่งหน้าของผู้แสดง  การแสดงนั้นแบ่งออกหลายแบบ หลายประเภท ผู้ชมควรดูให้เข้าใจว่าการแต่งกายเหมาะสมกับบรรยากาศและประเภทของการแสดงหรือไม่  เสื้อผ้า เครื่องประดับ และอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการแสดง ตลอดทั้งการแต่งหน้าด้วยว่าเหมาะสมกลมกลืนกันเพียงใด เช่น เหมาะสมกับฐานะหรือบทของผู้แสดงหรือไม่
๕.  เข้าใจถึงการออกแบบฉากและการใช้แสงและเสียง  ผู้ชมที่ดีต้องมีความรู้ ความเข้าใจเรื่องฉาก สถานที่ และสถานการณ์ต่างๆ ของการแสดง คือต้องดูให้เข้าใจว่าเหมาะสมกับการแสดงหรือไม่ บรรยากาศ แสง หรือเสียงที่ใช้นั้นเหมาะสมกับลักษณะของการแสดงเพียงใด
๖.  เข้าใจเกี่ยวกับบทบาทและฐานะของตัวแสดง คือ การแสดงที่เป็นเรื่องราว มีตัวแสดงหลายบท ซึ่งจะต้องแบ่งออกตามฐานะในเรื่องนั้นๆ เช่น พระเอก นางเอก ตัวเอก ตัวนายโรง พระรอง นางรอง ตัวตลก ฯลฯ
๗.  เข้าใจเกี่ยวกับเรื่องราวของการแสดง  ในกรณีที่เล่นเป็นเรื่องราว เช่น โขน ละคร ผู้ชมต้องติดตามการแสดงให้ต่อเนื่องกัน ึงจะเข้าใจถึงเรื่องราวต่างๆ ว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร
๘.  ควรมีอารมณ์ร่วมกับการแสดง  การแสดงนาฏศิลป์ได้บรรจุเอาลีลาท่าทาง หรืออารมณ์ต่างๆ ของผู้แสดงไว้มากมาย  ผู้ชมที่ดีควรมีส่วนร่วมกับผู้แสดงด้วย เช่น สนุกสนาน เฮฮาไปด้วย จะทำให้ได้รสของการแสดงอย่างเต็มที่ และผู้แสดงจะสนุกสนาน มีอารมณ์และกำลังใจในการแสดงด้วย
๙.  ควรมีมารยาทในการชมการแสดง  คือ ปรบมือให้เกียรติก่อนแสดงและหลังจาจบการแสดงแต่ละชุด  ไม่ควรส่งเสียงโห่ร้องเป็นการล้อเลียน หรือเยาะเย้ย ในขณะที่การแสดงนั้นไม่ถูกใจหรืออาจจะผิดพลาด ตลก ขบขัน ซึ่งจะทำให้ผู้แสดงเสียกำลังใจ และถือว่าไม่มีมารยาทในการชมการแสดงอย่างมาก อีกทั้งเป็นการรบกวนสมาธิและอารมณ์ของผู้ชมคนอื่นๆ ด้วย
๑๐.  ควรแต่งกายสุภาพเรียบร้อย  คือ ต้องให้เหมาะสมกับสถานที่ที่ใช้แสดง เช่นโรงละครแห่งชาติ หอประชุมขนาดใหญ่  ควรแต่งกายสุภาพแบบสากลนิยม แต่ในกรณีสถานที่สาธารณะหรืองานแบบสวนสนุก ก็อนุโลมแต่งกายตามสบายได้
๑๑.  ควรศึกษาเกี่ยวกับสูจิบัตร  ให้เข้าใจก่อนเริ่มชมการแสดง เพื่อจะได้ชมการแสดงได้เข้าใจตั้งแต่ต้นจนจบ  แต่ถ้าไม่มีสูจิบัตร ก็ควรจะตั้งใจฟังพิธีการบรรยายถึงเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวกับการแสดงให้เข้าใจด้วย
๑๒.  ควรไปถึงสถานที่แสดงก่อนเวลา  เพื่อจะได้เตรียมตัวให้พร้อม และได้ชมการแสดงตั้งแต่เริ่มต้น อีกทั้งจะได้ไม่เดินผ่านผู้อื่นซึ่งชมการแสดงอยู่ก่อนแล้ว จะทำให้เกิดความวุ่นวายเป็นการทำลายสมาธิด้วย